สาระสำคัญ/ประเด็นการแก้ไข ของพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับแก้ไขปี 2562

สาระสำคัญ/ประเด็นการแก้ไข ของพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับแก้ไขปี 2562

พระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับใหม่ ปี 2562 (รวมฉบับที่ 1 พ.ศ. ๒๕๔๒ ฉบับที่ 2 พ.ศ. ๒๕๕๓ และฉบับที่ 3 พ.ศ. ๒๕๖๒) มีบทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญ และประเด็นที่มีการแก้ไข ดังนี้

1. ประกาศในราชกิจจาเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๒
2. มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นคือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
3. บทนิยามคำว่าสหกรณ์เพิ่มข้อกำหนดคุณสมบัติสมาชิกต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
4. การได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาตินั้นกำหนด ให้กรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง คัดเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเงิน การตลาด การเกษตร กฎหมาย หรือดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง
5. กำหนดกรอบการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ คือ ให้มีการประชุมคณะกรรมการไม่น้อยกว่าปีละสี่ครั้ง
6. เพิ่มบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ คือ ให้คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาบุคลากรสหกรณ์ คณะอนุกรรมการการลงทุน และอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอื่นตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อพิจารณาหรือกระทำการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติมอบหมาย
7. ปรับปรุงในรายละเอียดของบทบาท และอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์ เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์ในด้านระบบบัญชี การตรวจสอบกิจการ การดำเนินการเมื่อสหกรณ์มีข้อบกพร่องอันเกิดจากการปฏิบัติงานของคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์หรือผู้เกี่ยวข้อง
8. ยกเลิกมาตรา ๒๖ เดิม มีผลทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการถูกลงโทษที่ทำให้สหกรณ์มีข้อบกพร่อง ไม่สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติได้
9. สามารถเพิ่มประเภทของสหกรณ์ได้(ประเภทที่ ๘) จากเดิมที่มี ๗ ประเภท คือ (๘) สหกรณ์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
10 ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน ได้ยกเลิกสิทธิการอุทธรณ์ของคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์
 
11. ปรับปรุงข้อกำหนดของสมาชิกสมทบ คือ สมาชิกสมทบต้องเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งบรรลุนิติภาวะ เว้นแต่สหกรณ์ที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษาอาจรับผู้ศึกษาในสถานศึกษานั้นซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะให้เป็นสมาชิกสมทบได้ โดยที่ สมาชิกสมทบต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด และมิให้สมาชิกสมทบกู้ยืมเงินเกินกว่าเงินฝากและทุนเรือนหุ้นของตนเองจากสหกรณ์
12. เปิดโอกาสให้สหกรณ์ออกระเบียบที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน คือ สามารถรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากนิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น เป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน (รับฝากจากนิติบุคคลผู้ก่อตั้งหรือต้นสังกัดของสมาชิกสหกรณ์)
13. เพิ่มความเข้มงวดในกรณีที่สหกรณ์ดำเนินกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก โดยเพิ่มบทบัญญัติขึ้นมา ๓ มาตรา ดังนี้
มาตรา ๕๑/๑ ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก มาตรา ๕๑/๒ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายต่อสหกรณ์ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
(๒) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ (๓) ดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ หรือขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการ ที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์
เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้นั้นต้องรับผิดร่วมกันกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ในความเสียหายต่อสหกรณ์
มาตรา ๕๑/๓ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา ๕๑/๒ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ร่วมกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์
(๒) ได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยปรากฏในรายงานการประชุมหรือได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม
14. ปรับปรุงเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกรรมการ ผู้จัดการ และผู้ตรวจกิจการของสหกรณ์ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๕๒ และมาตรา ๕๓
15. แก้ไขมาตรา ๖๖ เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินประจำปี ใช้ข้อความใหม่แทน ดังนี้
มาตรา ๖๖ ให้สหกรณ์จัดทำงบการเงินประจำปีทุกรอบปีทางบัญชีของสหกรณ์
งบการเงินประจำปีต้องเป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
งบการเงินประจำปีนั้นต้องทำให้แล้วเสร็จและให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
16. แก้ไขมาตรา ๖๙ เกี่ยวกับการสอบบัญชี ใช้ข้อความใหม่แทน ดังนี้
มาตรา ๖๙ ให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นผู้สอบบัญชีของสหกรณ์ ในการนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์อาจแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือบุคคลอื่นเป็นผู้สอบบัญชีของสหกรณ์ ตามขนาดของสหกรณ์ก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด
การสอบบัญชีนั้น ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชีและตามระเบียบที่อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด
17. เพิ่มเงื่อนไขในมาตรา ๗๑ เกี่ยวกับการเลิกสหกรณ์อีก ๑ ข้อ คือ
(๒) สหกรณ์ไม่ส่งสำเนารายงานประจำปีกับงบการเงินประจำปีต่อนายทะเบียนสหกรณ์เป็นเวลาสามปีติดต่อกัน
18. ยกเลิกมาตรา ๗๒ เดิม มีผลทำให้สหกรณ์ที่ถูกสั่งเลิกไม่สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติได้
19. เพิ่มหมวด ๔/๑ เรื่อง การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้การกำกับดูแลสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนมีความเข้มงวด รัดกุมมากขึ้น เพราะเป็นประเภทสหกรณ์ที่มีปริมาณเงินทุนหมุนเวียนสูง
ในตัวพระราชบัญญัติระบุกรอบกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ซึ่งจะปรากฏอยู่ในกฎกระทรวงที่จะออกมารองรับอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้ได้บัญญัติกรอบไว้ว่า ในการออกกฎกระทรวง ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย
ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง หรือระงับการดำเนินการ หรือให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการนั้น พ้นจากตำแหน่ง หรือสั่งให้เลิกสหกรณ์ดังกล่าวได้ แล้วแต่กรณี
เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ เสนอมาตรการแก้ไขปัญหา และเสนอให้ปรับปรุงระเบียบหรือคำสั่ง เกี่ยวกับการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแก่นายทะเบียนสหกรณ์
20. ในหมวด ๗ ชุมนุมสหกรณ์ ได้เพิ่มบทบัญญัติ มาตรา ๑๐๕/๑ เพื่อรองรับการดำเนินการของชุมนุมสหกรณ์ในการจัดสวัสดิการแก่สมาชิก ดังนี้
มาตรา ๑๐๕/๑ เพื่อส่งเสริมระบบสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ ให้ชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศมีอำนาจร่วมกับสหกรณ์สมาชิกของตน จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ของสมาชิกสหกรณ์และครอบครัวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
21. ในหมวด ๙ กลุ่มเกษตรกร ได้กำหนดผู้ที่จะเป็นนายทะเบียนเกษตรประจำจังหวัด คือ
ให้สหกรณ์จังหวัดเป็นนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรประจำจังหวัดที่กลุ่มเกษตรกรตั้งอยู่ และมีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
สำหรับกรุงเทพมหานครให้ผู้อำนวยการส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ ๑ และผู้อำนวยการส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ ๒ เป็นนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรกรุงเทพมหานคร
22. เพิ่มหมวด ๙/๑ เรื่อง การพิจารณาอุทธรณ์ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขึ้นมาใหม่แทนกำหนดเดิมที่ให้คณะกรรมการการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติมอบหมาย เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ
23. ในหมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ ได้บัญญัติบทลงโทษในกรณีต่างๆละเอียดขึ้น ซึ่งโดยรวมได้กำหนดบทลงโทษที่สูงขึ้น
 
24. พ.ร.บ ฉบับแก้ไขนี้ได้กำหนดกรอบเวลาการดำเนินการให้รองรับการบังคับใช้ของ พ.ร.บ ที่สำคัญ มีดังนี้
ในกรณีที่ข้อบังคับของสหกรณ์ใดไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้สหกรณ์นั้นแก้ไขข้อบังคับของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ
ให้สหกรณ์แก้ไขข้อบังคับของสหกรณ์ที่เกี่ยวกับสมาชิกสมทบให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
สหกรณ์ที่มีสมาชิกซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สหกรณ์ดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในการดำเนินการให้ออกจากการเป็นสมาชิกเพราะขาดคุณสมบัติตามพ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ หากสมาชิกผู้ใดมีนิติกรรมกับสหกรณ์ แต่ได้พ้นจากสมาชิก โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกนิติกรรมนั้น ให้นิติกรรมนั้นยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่ตกลงกัน แต่จะทำการใดก่อผลผูกพันขึ้นใหม่มิได้
บรรดาคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจพิจารณาต่อไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
บรรดากฎหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในการดำเนินการออกกฎกระทรวงและระเบียบ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ(ภายในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ฑ.ศ. ๒๕๖๔) หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

------------------------------------------------