เทคโนโลยี 5 G รุกคืบมาใกล้แล้ว

5G คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร ? ปี พ.ศ. 2563 พร้อมใช้หรือยัง ?
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 08/01/2020
เขียนและ เรียบเรียงโดย เกียรติศักดิ์ คิดนุนาม ISOCARE SYSTEMS CO,;LTD.

5G คืออะไร ?

   5G คือเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สายยุคที่ 5 (5th Generation) เทคโนโลยีที่ลงท้ายด้วย G ต่างก็เป็นเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายทั้งนั้น โดยอาศัยคลื่นความถี่เป็นตัวนำพา และที่ผ่านมาได้นำมาใช้กับระบบโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก
 5G pict03    ก่อนที่จะไปถึง 5G เรามาเริ่มทำความรู้จักแต่ละ G (Generation) กันก่อน
    - ยุค 1G ยุคนั้นเป็นยุคที่เราคุยกันด้วยเสียงผ่านมือถือระบบอนาล็อก จริงๆชื่อ 1G ไม่ค่อยเรียกขานกันหรอก เป็นยุคของโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่เทอะทะเหมือแกลลอนน้ำมันเครื่อง (คนหิ้วก็วางมาดคิดว่าตัวเองดูเท่ห์) เทคโนโลยีนี้ทำให้เราสามารถสนทนาด้วยเสียงในระยะทางไกลได้
    - ยุค 2G นอกจากเราจะสนทนากันด้วยเสียงแล้ว เรายังสามารถส่งข้อความสั้นๆ หรือ SMS ติดต่อสื่อสารกันได้เพิ่มเข้ามา
    - ยุค 3G สามารถเชื่อมต่อและใช้งานอินเทอร์เน็ต เพื่อส่งข้อมูลผ่านมือถือได้ด้วยความเร็วระหว่าง 20kbps- 42.2Mbps เทคโนโลยียุคนี้สามารถท่องอินเตอร์เน็ตดูเว็บ ดูวีดีโอสตรีมมิ่งได้แล้ว แต่ยังไม่เร็วเท่าไหร่ และความละเอียดไม่สูงมากนัก
    - ยุค 4G สามารถดูภาพ เสียง หรือหนังออนไลน์ได้ที่ความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 100 Mbps(4G LTE), 150 Mbps (4G LTE Cat.4) และ 1,000 Mbps (4G LTE Advanced) ยุคนี้ถือเป็นยุคที่คนใช้อินเทอร์เน็ตกันอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการทำงาน และการดำรงชีวิตกันมากขึ้น เราติดตามข่าวสารกันบนโลกออนไลน์ ไลฟ์สด ดูหนังฟังเพลงเป็นเรื่องๆ ได้ผ่านสตรีมมิ่ง มีการทำธุรกรรมการเงิน ซื้อของสินค้าผ่านออนไลน์ และอื่นๆ กันอย่างจริงจัง
   - ยุค 5G เรียกได้ว่าเป็นรุ่นที่ 5 ของระบบการสื่อสาร ที่อนาคตจะไม่ใช่แค่ใช้กับโทรศัพท์มือถือเป็นหลักเท่านั้น แต่จะรวมถึงใช้กับอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ (Internet of Things หรือ IoT)
     ยุค 2G 3G ประเทศไทยเรามักมีใช้แพร่หลายตามหลังประเทศแถบอเมริกาและยุโรปอยู่หลายปี ยุค 4G ดีขึ้น ไทยเราใช้ตามหลังไม่นาน ส่วนยุค 5G ประเทศไทยคาดว่าจะได้ใช้แพร่หลายในช่วงเวลาเดียวกันกับประเทศแถบอเมริกา ยุโรป จีน และประเทศอื่นๆอีกมาก และเป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลเองก็มีนโยบายให้การสนับสนุนและผลักดันอย่างจริงจัง
 
5g wireless table 
คุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G
     ถ้าพิจารณาอย่างกว้างๆ จะประกอบไปด้วยคุณสมบัติหลัก 3 เรื่อง ดังนี้
.1. ความเร็วที่เพิ่มขึ้น (Speed) ความเร็วบนเทคโนโลยี 5G นั้นจะสูงกว่าเทคโนโลยี 4G ประมาณ 20 เท่า (ในอนาคตสามารถพัฒนาให้มีความเร็วได้ถึง 100 เท่าของ 4G) ส่งผลให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ มากมาย เช่น การสตรีมมิ่งวิดีโอความคมชัดสูงระดับ 4K หรือ 8K การใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือ VR (Virtual Reality) เป็นต้น
.2. อัตราการตอบสนองต่อการสั่งการที่รวดเร็ว (Low Latency) เทคโนโลยี 5G มีค่าความหน่วงในการรับส่งข้อมูล (Latency) ที่ต่ำกว่า 1 ใน 1,000 วินาที คุณสมบัตินี้จะก่อให้เกิดบริการใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ การผ่าตัดจากทางไกล หรือเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
.3. การรองรับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จำนวนมาก (Massive IoT) โดยเทคโนโลยี 5G จะสามารถรองรับอุปกรณ์ IoT ได้มากถึง 1,000,000 ชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าเทคโนโลยี 4G ถึง 10 เท่า
.   ข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้กำหนดเป็นมาตรฐานสากล คือ มาตรฐาน IMT-2020 5G (ชุดทางการยังไม่ได้ผ่านมติของคณะกรรมการกลาง) มีประเด็นข้อสรุปสำคัญ ดังตารางต่อไปนี้
 
 

Capability

Description

5G requirement

Usage scenario

Downlink peak data rate

Minimum maximum data rate technology must support

20 Gbit/s

eMBB

Uplink peak data rate

10 Gbit/s

eMBB

User experienced downlink data rate

Data rate in dense urban test environment 95% of time

100 Mbit/s

eMBB

User experienced uplink data rate

50 Mbit/s

eMBB

Latency

Radio network contribution to packet travel time

4 ms

eMBB

1 ms

URLLC

Mobility

Maximum speed for handoff and QoS requirements

500 km/h

eMBB/URLLC

Connection density

Total number of devices per unit area

106/km2

mMTC

Energy efficiency

Data sent/received per unit energy consumption (by device or network)

Equal to 4G

eMBB

Area traffic capacity

Total traffic across coverage area

10 Mbps/m2

eMBB

Peak downlink spectrum efficiency

Throughput per unit wireless bandwidth and per network cell

30 bit/sector/Hz

eMBB

    
   คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดคือความเร็วในการรับส่งหรือโอนข้อมูล ปัจจุบัน 4G โอนข้อมูลได้ 1 GB ต่อวินาที ส่วน 5G จะทำโอนได้ถึง 20 GB ต่อวินาทีหรือ 20 เท่าของ 4G แต่ต้องใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อที่เร็วด้วย คืออุปกรณ์ที่รองรับระบบ 5G NR (5G New Radio) ช่วงแรกยังต้องอาศัยอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบ 4G อยู่ ความเร็วและประสิทธิภาพจะยังไปไม่ถึงตามมาตรฐานที่ตั้งไว้
 
5G than 4G
 
ผลกระทบของเทคโนโลยี 5G
การพัฒนาของเทคโนโลยี 5G จะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงและมีผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ คือ
  • ภาคการเงินการธนาคาร เนื่องจากความสามารถของเทคโนโลยีที่มากขึ้น ทําให้ระบบ Mobile Banking เข้ามาแทนที่ ไม่ต้องทําธุรกรรมผ่านเจ้าหน้าที่ธนาคาร ขณะเดียวกันการวิเคราะห์สินเชื่ออาจใช้ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์แทนพนักงานได้มากขึ้น
  • ภาคอุตสาหกรรม ระบบอุตสาหกรรมของไทย ยังพึ่งพา แรงงานคน เมื่อ 5G เข้ามา จะมีการใช้หุ่นยนต์ในการผลิตและเชื่อมโยงหน้าที่ต่างๆมากขึ้น คนที่ทํางานในภาคอุตสาหกรรมต้องคิดแนวทางในการพัฒนาและปรับตัวตัวเองให้มีความพร้อมกับสถานการณ์ใหม่ด้วย
  • ภาคการเกษตร คาดว่าหลังใช้ระบบ 5G มูลค่าการผลิตภาคเกษตรต่อไร่จะสูงขึ้น เมื่อ IOT เข้ามาช่วยในการจัดการสภาพแวดล้อม วิเคราะห์ดิน น้ำ และทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกษตรกรเองก็ ต้องมีการเตรียมพร้อมทํา smart farming ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน
  • ภาคการขนส่งโลจิสติกส์ เมื่อมีการนําเทคโนโลยี 5 G เข้ามาใช้ในการคมนาคมขนส่ง ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการประยุกต์ใช้ IoT เช่น รถยนต์ไร้คนขับ การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะด้วยกันเอง และเชื่อมต่อระหว่างยานพาหนะและระบบควบคุมการจราจร เป็นต้น
  • ภาคการแพทย์ จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เช่น การรักษาทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การ ผ่าตัด ไม่ต้องให้หมอเดินทางไปผ่าตัดในสถานที่ห่างไกลหรือในกรณีเร่งด่วน ที่เรียกว่า เท็กซ์ไทล์อินเทอร์เน็ต หรือ อินเทอร์เน็ตแบบสื่อสัมผัส ที่สามารถผ่าตัดหรือทําการรักษาคนไข้ได้เสมือนอยู่ในห้องผ่าตัด
  • ภาคการค้า โดยเฉพาะการค้าปลีก ทําเลทองจะเปลี่ยนมาอยู่ในโลกออนไลน์แทบจะทั้งหมด การเช่าพื้นที่ค้าขายจะลดลง อีกทั้งยังมีนวัตกรรมที่ทําให้การซื้อสินค้าสะดวกสบาย ผู้ซื้อไม่ต้องเดินทางไปที่ร้าน
  • ภาคอุตสาหกรรมโทรทัศน์และสื่อฯ เทคโนโลยี 5G สามารถรองรับความต้องการในการรับส่งข้อมูลปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว เช่น สามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์และสื่อบันเทิงความคมชัดสูงในระดับ 4k 8kได้ในเวลาไม่กี่วินาที ในการอัพโหลดก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย รวมถึงการเลือกรับชมรายการตามคําขอ (Video on demand) ที่ผู้รับบริการสามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา
สมาร์ทโฟน 4G สามารถใช้งาน 5G ได้ไหม
       สำหรับสมาร์ทโฟน 4G จะไม่สามารถใช้งาน 5G ได้ เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ โมเด็มรับสัญญาณอาจไม่รองรับการรับคลื่นความเร็วสูง ถึงรองรับแต่ก็ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้ถูกพัฒนามาเพื่อการใช้งาน 5G โดยเฉพาะ นั่นหมายความว่าถ้าคุณต้องการใช้งาน 5G จำเป็นต้องซื้อสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งานมาตั้งแต่ต้น
       ปัจจุบัน (ณ ต้นปี 2020) ในประเทศไทยมีผู้ผลิตหลายแบรนด์ต่างเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นที่รองรับการเชื่อมต่อความเร็วระดับ 5G กันแล้ว โดยแต่ละรุ่นต่างก็มีราคาแพง และมีตัวเลือกน้อย รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอต่อการใช้งานในระดับที่เหมาะสม
เมื่อไหร่จะได้ใช้
         เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการสื่อสารซึ่งใช้ในการเชื่อมต่อกันทั่วโลก จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานสากลหรือมาตรฐานกลางที่ใช้ร่วมกัน(มาตรฐานมีหลากหลายกรณีที่เกี่ยวข้อง) ซึ่งมีองค์หลักที่ทำหน้าที่กำกับเรื่องมาตรฐานกลางคือ FCC ในช่วงปี คศ.2019 ที่ผ่านมา FCC ได้มีการทยอยออกข้อกำหนด ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอนุญาต/จัดสรรความถี่ที่ใช้ในระบบ 5G และมีเป้าหมายที่จะให้ข้อกำหนดต่างๆลงตัวให้มากที่สุดเพื่อให้สามารถเปิดใช้ระบบ 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี ค.ศ.2020
         ในประเทศไทย เป็นอย่างไรบ้าง โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ได้มีการแถลงข่าวของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าจะมีการลงนามความร่วมมือสร้างโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 5G เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิดเป็นพื้นที่ให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ที่ชนะการประมูล 5G ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 สามารถติดตั้งระบบ 5G ได้ทันทีในเดือน มี.ค. 2563 หลังได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการติดตั้งระบบ 2-3 เดือน หรือประมาณเดือน พ.ค. 2563 ก็จะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้
ข้อมูลอ้างอิง :
--- เทคโนโลยี 5G จุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของไทย https://www.prd.go.th/ewt_dl_link.php?nid=208108&filename=expert
--- 5G คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร เรื่องใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด
--- Everything You Need to Know About 5G https://www.qualcomm.com/invention/5g/what-is-5g